3.3 ลักษณะปัญหาสิ่งแวดล้อม

สิ่งที่เกิดจากกิจกรรม ผลิตภัณฑ์ หรือบริการขององค์กร ซึ่งสามารถส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

หมายเหตุ ลักษณะปัญหาสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ หมายถึงลักษณะปัญหาเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมที่มีหรือสามารถส่งผลกระทบสำคัญต่อสิ่งแวดล้อม
3.4 ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

การเปลี่ยนแปลงใดๆที่เกิดกับสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะดีหรือไม่ดี ทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน อันเป็นผลมาจากกิจกรรม ผลิตภัณฑ์ หรือบริการ ขององค์กร

3.5 ระบบการบริหารงานสิ่งแวดล้อม

ส่วนหนึ่งของระบบการบริหารโดยรวมขององค์กร ซึ่งหมายรวมถึงโครงสร้างองค์กร กิจกรรมการวางแผน หน้าที่ความรับผิดชอบ
วิธีปฏิบัติงาน ขั้นตอนการปฏิบัติงาน กระบวนการ และทรัพยากรที่ใช้ในการพัฒนา ดำเนินการเพื่อให้บรรลุผลสำเร็จ ทบทวน และ
คงไว้ซึ่งนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม

3.6 การตรวจติดตามระบบการบริหารงานสิ่งแวดล้อม

กระบวนการตรวจสอบที่จัดทำอย่างเป็นระบบ และเป็นลายลักษณ์อักษร ในการหาและประเมินหลักฐานอ้างอิงอย่างเป็นรูปธรรม
เพื่อให้ระบบการบริการงานสิ่งแวดล้อมขององค์กรเป็นไปตามหลักเกณฑ์การตรวจติดตามระบบการบริหารงานสิ่งแวดล้อมซึ่งกำหนด
โดยองค์กรนั้น แล้วจึงแจ้งผลการตรวจติดตามให้คณะผู้บริการทราบ

3.7 วัตถุประสงค์ด้านสิ่งแวดล้อม

เป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมโดยรวมอันเกิดจากนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมซึ่งองค์กรเป็นผู้กำหนดขึ้นเพื่อให้บรรลุและสามารถวัดผลได้
ในทางปฏิบัติ

3.8 ผลการปฏิบัติงานด้านสิ่งแวดล้อม

ผลการปฏิบัติงานที่สามารถวัดผลได้ของระบบการบริหารงานสิ่งแวดล้อมในเรื่องการควบคุมลักษณะปัญหาสิ่งแวดล้อมให้เป็นไปตาม
ในนโยบาย วัตถุประสงค์ และเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อม

3.9 นโยบายด้านสิ่งแวดล้อม

การแจ้งความตั้งใจ และหลักการขององค์กรในเรื่องผลการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งวางกรอบการปฏิบัติการ รวมทั้งตั้ง
วัตถุประสงค์ และเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อม

3.10 เป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อม

ข้อกำหนดผลการดำเนินงานโดยละเอียดในส่วนซึ่งสามารถวัดผลในทางปฏิบัติได้ สามารถนำไปใช้ได้กับองค์กรหรือหน่วยงานภายในได้ เป็นข้อกำหนดที่เกิดจากวัตถุประสงค์ด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งจำเป็นต้องกำหนดขึ้นเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว

3.11 ผู้สนใจ

บุคคลหรือคณะบุคคลที่เกี่ยวข้องกับ หรือได้รับผลกระทบจากผลการปฏิบัติงานสิ่งแวดล้อมขององค์กร

3.12 องค์กร

บริษัท ห้างร้าน หรือสถาบันบางหน่วยงาน หรือทั้งองค์กร ไม่ว่าจะมีการก่อตั้งขึ้นหรือไม่ จะเป็นภาครัฐ หรือเอกชนที่มีหน้าที่ 
และการบริหารภายใน

หมายเหตุ สำหรับองค์กรที่มีมากกว่าหนึ่งสาขา ให้ถือว่าแต่ละสาขาเป็นเอกเทศต่อกัน

3.13 การป้องกันมลพิษ

การใช้กระบวนการ วิธีปฏิบัติงาน วัสดุ หรือผลิตภัณฑ์เพื่อหลีกเลี่ยง ลด หรือควบคุมมลพิษ ซึ่งอาจรวมถึงการนำกลับมาใช้ใหม่
การบำบัด การเปลี่ยนแปลงกระบวนการ กลไกการควบคุมการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ และการใช้วัสดุทดแทน

หมายเหตุ ประโยชน์ที่อาจเกิดขึ้นจากการป้องกันมลพิษคือ การลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมทีไม่ดี ประสิทธิภาพที่มีการปรับปรุงขึ้น
และต้นทุนที่ลดลง

4. ข้อกำหนดของระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม

4.1 บททั่วไป

องค์กรต้องจัดทำและคงไว้ซึ่งระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม ตามข้อกำหนดซึ่งระบุในข้อนี้

4.2 นโยบายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม

ผู้บริหารระดับสูงต้องเป็นผู้กำหนดนโยบายสิ่งแวดล้อมขององค์กร และต้องมั่นใจว่านโยบายนั้น
a) เหมาะสมกับลักษณะ ขนาด และผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากกิจกรรม ผลิตภัณฑ์ หรือการให้บริการขององค์กร
b) มุ่งมั่นต่อการปรับปรุงอย่างต่อเนื่องและการป้องกันมลพิษ
c) มุ่งมั่นที่จะปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งข้อกำหนดอื่นๆที่องค์กรได้ทำข้อตกลงไว้
d) วางกรอบในการกำหนดและทบทวนวัตถุประสงค์และเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อม
e) จัดทำเป็นเอกสาร นำไปปฏิบัติ คงไว้ และถ่ายทอดให้พนักงานทุกคนทราบ
f) เผยแพร่ต่อสาธารณชนได้

4.3 การวางแผน
4.3.1 ลักษณะปัญหาสิ่งแวดล้อม

องค์กรต้องกำหนดและคงไว้ซึ่งวิธีการในการระบุลักษณะปัญหาสิ่งแวดล้อม ที่เกิดจากกิจกรรม ผลิตภัณฑ์ หรือการให้บริการ ซึ่ง
องค์กรสามารถควบคุม และคาดว่าจะมีอิทธิพลในการระบุลักษณะปัญหาที่มีผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม โดยต้องมั่นใจว่าลักษณะปัญหา
ที่เกี่ยวข้องกับผลกระทบดังกล่าวได้รับการพิจารณากำหนดเป็นวัตถุประสงค์ด้านสิ่งแวดล้อมขององค์กร

องค์กรต้องปรับปรุงข้อมูลดังกล่าวให้ทันสมัยตลอดเวลา